วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552

แม่ทา



หมู่บ้านแกะสลักอำเภอแม่ทา เดินทางไปตามถนนสายแม่ทา-ท่าจักร ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร บริเวณบ้านหนองยางไคล ตำบลทุ่งทาหลวง และบริเวณหมู่บ้านใกล้เคียง เป็นแหล่งผลิตไม้แกะสลักเป็นรูปแบบต่าง ๆ เช่น รูปคน รูปสัตว์ เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องประดับบ้าน ของเล่นเด็ก เป็นอุตสาหกรรมภายในครัวเรือนส่งไปขายยังจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง
อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน อำเภอห้างฉัตรและอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สภาพพื้นที่เป็นป่าเขา อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ ๑๕๙,๕๕๖ ไร่ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยทางรถไฟลงที่สถานีขุนตาล เดินเท้าอีกประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ สำหรับทางรถยนต์เดินทางไปตามเส้นทางลำปาง-ลำพูน (ทางหลวงหมายเลข ๑๑) กิโลเมตรที่ ๔๗ เข้าไปประมาณ ๑๘ กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจของอุทยานฯ
อุโมงค์ขุนตาล เป็นอุโมงค์ทางรถไฟลอดผ่านที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาว ๑,๓๕๒ เมตร สร้างขึ้นโดยชาวเยอรมันชื่อเอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ แต่ยังไม่แล้วเสร็จเพราะในระหว่างการสร้างอุโมงค์เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้นายเอมิลเดินทางกลับประเทศ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๖๐ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาแห่งการรถไฟ เสด็จมาเป็นแม่งานก่อสร้างจนเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๖๑
บริเวณยอดเขา จากที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งมีที่พักของกรมป่าไม้ตั้งอยู่ เดินเท้าต่อไปประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร จะถึง ย. ๑ หรือจุดยุทธศาสตร์ ๑ เป็นที่ตั้งของบ้านพักรับรองของการรถไฟแห่งประเทศไทย จากนั้นเดินเท้าต่อไปอีก ๘๐๐ เมตร จะถึง ย. ๒ บริเวณนี้มีต้นสนเขาขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและมีบ้านพักรับรองของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ภายในบริเวณปลูกพันธุ์ไม้เมืองหนาวและจัดตกแต่งสถานที่อย่างสวยงาม หากเดินต่อไปอีกประมาณ ๓,๖๐๐ เมตร จะถึง ย. ๓ เป็นที่ตั้งของบ้านพักมิชชันนารี จุดสูงสุดของเทือกเขาดอยขุนตาลมีชื่อเรียกว่า “ม่อนส่องกล้อง” หรือ ย. ๔ ระยะทางเดินจาก ย. ๓ ประมาณ ๑ กิโลเมตร
น้ำตกแม่กลอง อยู่ทางทิศใต้ของสถานีขุนตาล ห่างไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร โดยลงรถไฟที่สถานีแม่ตาลน้อย แล้วเดินเท้าไปอีกประมาณ ๓ กิโลเมตร มีน้ำไหลตลอดปี
น้ำตกตาดเหมย อยู่แยกจากเส้นทางด้านซ้ายมือ ระหว่างทางจาก ย. ๒ ไป ย. ๓ โดยต้องเดินลงไปในหุบเขาแม่ยอนหวาย ประมาณ ๓๐๐ เมตรอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล มีบ้านพักและเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว สำหรับนักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์ไปเองทางอุทยานฯ ได้จัดบริเวณสำหรับกางเต็นท์ไว้ให้ ติดต่อสำรองที่พักได้ที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. ๐ ๒๕๗๙ ๕๗๓๔, ๐ ๒๕๗๙ ๗๒๒๓ หรืออุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล โทร.๐ ๕๓๕๑ ๙๒๑๖-๗ นอกจากนี้ยังมีบ้านพักของการรถไฟแห่งประเทศไทย ติดต่อได้ที่ โทร. ๐ ๒๒๒๕ ๖๙๖๔ และบ้านพักมิชชันนารี ของมหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ โทร. ๐ ๕๓๒๔ ๑๒๕๕

อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย



เดิมชื่อป่าคา เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียก มีความหมายถึงป่าคาหลวง หรือสันกลางแม่วังช้าง มีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าคาขนาดใหญ่ เป็นต้นน้ำของแม่น้ำท่าแพ ภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัยมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจได้แก่ น้ำตกตาดเดือน น้ำตกตาดดาว น้ำตกทรายขาว ถ้ำธาราสันต์ โป่งเดือด ถ้ำค้างคาว บริเวณอุทยานมีเนื้อที่ทั้งหมด 133,250 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2524
การเดินทางโดยรถยนต์จากจังหวัดสุโขทัย ตามถนนสายสุโขทัย-สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย (สายเก่า) จะเข้าสู่อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัยได้ 2 ทางคือ สายเก่า จากอำเภอสวรรคโลกเลี้ยวซ้ายไปอำเภอทุ่งเสลี่ยม ข้ามสะพานแม่น้ำยมไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามทางสายใหม่ สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ถึงบ้านเมืองเก่า เลี้ยวซ้ายลงทางลูกรังถึงบ้านสารจิตรอีก 9 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อผ่านบ้านแก่ง บ้านปากคะยางและบ้านป่าคา ถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร และสายที่ 2 จากอำเภอศรีสัชนาลัยเลี้ยวซ้ายผ่านหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอศรีสัชนาลัย ข้ามสะพานแม่น้ำยม ผ่านหน้าโรงพยาบาลศรีสัชนาลัย เลี้ยวซ้ายไปตามทางสายใหม่ ศรีสัชนาลัย-สวรรคโลก ถึงบ้านหนองอ้อ เลี้ยวขวาลงทางลูกรังไปเชื่อมกับทางสายแรกที่บ้านสารจิตร รวมระยะทางถึงอุทยานแห่งชาติฯ ประมาณ 45 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางชัดเจน สภาพเส้นทางจะเป็นทางราดยาง ขนาดสองทางวิ่ง ก่อนจะเข้าอุทยานฯ จะต้องผ่านห้วยซึ่งมีสะพานข้ามอยู่แล้ว

บางมูลนาก



วัดห้วยเขน ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยเขน อยู่ห่างจากอำเภอประมาณ ๘ กิโลเมตร ไปตามถนนสายบางมูลนาก-วังงิ้ว ภายในวัดมีโบสถ์เก่าซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ไว้ ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับเรื่องพุทธประวัติเรื่องรามเกียรติ์ เป็นภาพของเก่าโบราณที่ยังไม่มีการตกแต่งเพิ่มเติมใดๆ
วัดท่าช้าง ตั้งอยู่ที่ตำบลเนินมะกอก อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๒ กิโลเมตร ภายในวัดมีมณฑปหลวงพ่อหินที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง พระพุทธรูปสลักด้วยหินทราย การเดินทาง จากตัวอำเภอบางมูลนาก ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๑๑๑๘

วังเหนือ



น้ำตกวังแก้ว เป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งในอุทยานแห่งชาติดอยหลวงซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๓ และครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดพะเยา เชียงรายและลำปาง รวมเนื้อที่ประมาณ ๑,๑๗๐ ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศเป็นเขาสูงทอดตัวแนวเหนือ-ใต้ มีดอยหลวงเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด ประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้นและป่าเต็งรังปะปนกัน มีสัตว์ป่าและนกหลายชนิด ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ที่บริเวณน้ำตกปูแกง อ.พาน จ.พะเยา
น้ำตกวังแก้ว เป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดของจังหวัดลำปาง มีชั้นน้ำตกประมาณ ๑๑๐ ชั้น แต่เป็นชั้นใหญ่ ๗-๘ ชั้น เมื่อขึ้นไปถึงชั้นบนสุดของน้ำตกจะพบหมู่บ้านชาวเขาเผ่าเย้าที่บ้านป่าคาหลวง และบ้านส้านซึ่งมีทางขึ้นค่อนข้างชัน ที่น้ำตกวังแก้วยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะสั้น ๑.๔ กิโลเมตร นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงยังมี น้ำตกวังทอง ซึ่งมีลักษณะคล้ายน้ำตกวังแก้ว ค่าธรรมเนียมเข้าชม เด็ก ๑๐ บาท ผู้ใหญ่ ๒๐ บาท สามารถกางเต็นท์ได้แต่ต้องเตรียมเสบียงไปเอง การเดินทาง ใช้เส้นทางสายลำปาง-แจ้ห่ม-วังเหนือ ระยะทางประมาณ ๑๑๐ กิโลเมตร มีทางเข้าสู่น้ำตกทั้งสองข้างที่ว่าการอำเภอวังเหนือ จากปากทางเข้าสู่น้ำตกวังแก้วเป็นระยะทางประมาณ ๒๔ กิโลเมตร สภาพถนนเป็นทางลาดยาง ส่วนทางเข้าน้ำตกวังทองจากปากทางใหญ่ที่เข้ามาจะถึงก่อนน้ำตกวังแก้วประมาณ ๙ กิโลเมตร แต่เส้นทางที่เข้าไปค่อนข้างลำบากเพราะเป็นถนนลูกรัง หากเดินทางโดยรถประจำทางสามารถโดยสารรถสองแถวสีฟ้าสายลำปาง-วังเหนือมาลงหน้าที่ว่าการอำเภอและต้องเช่ารถต่อเข้าไปยังน้ำตก

วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552

อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท



อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ตั้งอยู่ในจังหวัดลำปาง มีเนื้อที่ทั้งหมด โดยประมาณ 758,750 ไร่ หรือ 1,214 ตารางกิโลเมตร จัดตั้งขึ้นเนื่องจากถ้ำผาไท เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดลำปาง มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำแม่น้ำวัง และแม่น้ำงาว เดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่งาวฝั่งขวา , ป่าแม่โป่ง , ป่าขุนวัง , แปลงที่หนึ่ง , ป่าแม่แจ้ฟ้า , ป่าแม่เมาะ , ป่าแม่ต๋า และป่าแม่มาย , ป่าแม่ยาง และป่าแม่อาง
การเดินทาง ระยะทางจากจังหวัดลำปาง ถึงอำเภองาว และ จากอำเภองาว ถึงสำนักงานถ้ำผาไท 65 กิโลเมตร มีสภาพถนนเป็นถนนลาด ยางตลอดเส้นทาง มีบ้านพักจำนวน 3 หลัง พักได้ทั้งหมด 30 คน และมีสถานที่ให้กางเต้นท์ จำนวน 1 แห่ง พักได้ทั้งหมด 100 คน และร้านสวัสดิการอุทยานฯ บริการอาหาร เครื่องดื่ม ติดต่อสอบถามได้ที่งานบริการบ้านพักฝ่ายนันทนาการและสื่อความหมาย ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร. 02-5797223 , 02-5614292-4 ต่อ 724 , 725

ลักษณะภูมิประเทศ เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีเทือกเขาสูงชัน สูงจากระดับน้ำทะเล ต่ำสุด 330 เมตร และสูงสุด 1,202 เมตร โดยแหล่งน้ำที่ใช้อุปโภคและบริโภค ได้จาก แม่น้ำงาว ห้วยแม่พลึง น้ำแม่ห้าง ลุ่มน้ำแม่เจ้าฟ้า น้ำแม่เมา และห้วยแม่หยวก

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ จึงมีสัตว์ป่ามากมายอาศัยอยู่

จุดเด่นที่น่าสนใจ อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทมีเทือกเขาที่สลับซับซ้อน มีเทือกเขาสูงชัน เนื่องจากสภาพภูเขาที่เป็นหินปูน ทำให้ถ้ำมีขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก และมีสภาพป่าที่สมบูรณ์เป็นต้นกำเนิดของน้ำตกหลายแห่ง สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจได้แก่ น้ำตกตาดเหมย น้ำตกห้วยตาดน้อย น้ำตกแม่ส้าน น้ำตกแม่แก้ ถ้ำผาไท ถ้ำโจร ถ้ำราชคฤห์ หล่มภูเขียว นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาพักผ่อน เที่ยวชมธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทได้ตลอดทั้งปี โดยที่ท่านสามารถเลือกสัมผัสธรรมชาติได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น ปิคนิค เล่นน้ำตก เดินป่า ส่องสัตว์ เที่ยวถ้ำ เป็นต้น

สอง


พระธาตุพระลอ อยู่ที่ตำบลบ้านกลาง ตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๑๑๕๔ กม.ที่ ๕๔ ห่างจากอำเภอสองประมาณ ๓ กิโลเมตร เป็นพระธาตุเก่าแก่อายุกว่า ๔๐๐ ปี สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงความรักอมตะของพระลอแห่งนครแมนสรวง และพระเพื่อน-พระแพงแห่งเมืองสรอง เป็นต้นกำเนิดของวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอซึ่งจัดว่าเก่าแก่ที่สุด สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น บทประพันธ์ลิลิตพระลอได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดลิลิตบทหนึ่งเพราะบรรยายได้อย่างไพเราะ
การเดินทาง ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๑ ประมาณ ๒๔ กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๑๐๓ อีกราว ๑๘ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาสู่อำเภอสองใช้เส้นทางหมายเลข ๑๑๕๔ จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปอีก ๓ กิโลเมตรถึงพระธาตุพระลอ



อุทยานลิลิตพระลอ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง ในเส้นทางไปพระธาตุพระลอ สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นเมืองสรองมาก่อนเพราะยังปรากฏเนินดินเป็นแนวกำแพงให้เห็น มีแม่น้ำกาหลงไหลผ่าน ปัจจุบันแม่น้ำนี้ได้ตื้นเขินไปแล้วจนเกือบไม่เหลือสภาพเดิม


พิพิธภัณฑ์เงินตราสยามเวียงสรอง อยู่บนเส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๓ ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๑๔ ห่างจากตัวเมืองแพร่ประมาณ ๓๙ กิโลเมตร มีพื้นที่กว่า ๑๐ ไร่ เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ของครอบครัวอุปวรรณ ที่เก็บรวบรวมเงินตรา และเหรียญกษาปณ์ต่าง ๆ ที่หายากของไทยตลอดจนเงินสกุลอื่น ๆ ตั้งแต่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบันไว้มากมาย นอกจากนี้ยังมีสิ่งของเครื่องใช้วัตถุโบราณ เช่น ถ้วยชามสังคโลก และเอกสารต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จัดแสดงเพื่อให้นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปได้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐–๑๗.๓๐ น. อัตราค่าเข้าชม คนละ ๒๐ บาท หากเข้าชมเป็นหมู่คณะสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๕๔๖๓ ๔๒๓๗, ๐ ๕๔๖๓ ๔๓๙๕


อุทยานแห่งชาติแม่ยม มีพื้นที่ทั้งสิ้น ๒๘๔,๒๑๘ ไร่ ครอบคลุมท้องที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ และอำเภองาว จังหวัดลำปาง ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๒๙ ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสองฝั่งแม่น้ำยม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ อุทยานแห่งชาติแม่ยมนี้มีแม่น้ำยมไหลผ่านเป็นความยาว ๔๓ กิโลเมตร และมีน้ำตลอดปี


แก่งเสือเต้น อยู่หน้าที่ทำการอุทยานฯ เป็นเกาะแก่งธรรมชาติในแม่น้ำยม มีความยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร ชื่อของแก่งเสือเต้นนี้มีความเป็นมาจากลักษณะธรรมชาติของหินก้อนหนึ่งในแก่งนี้ ซึ่งมีลักษณะรอยเท้าเสือปรากฏอยู่ บริเวณแก่งเสือเต้นมีหาดทรายอยู่ทั่วไป เหมาะแก่การกางเต็นท์เพื่อสัมผัสธรรมชาติที่งดงาม โดยนักท่องเที่ยวจะต้องนำเต็นท์มาเอง เสียค่าพื้นที่คนละ ๕๐ บาท/คืน และที่แก่งเสือเต้นนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การล่องแก่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องนำอุปกรณ์การล่องแก่งมาเอง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ข่าวอุทยานจังหวัดแพร่ โทร. ๐ ๕๔๕๒ ๒๐๙๗


ดงสักงาม ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ ๖ กิโลเมตร ต้องใช้การเดินเท้าเท่านั้น ลักษณะเป็นกลุ่มของดงไม้สักทองที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นตลอดแนวยาวประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ตามริมฝั่งแม่น้ำยม ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ปุง-แม่เป้า ผืนป่าสักแห่งนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นผืนป่าสักที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ไม้สักที่ขึ้นอยู่นี้มีขนาดสูงใหญ่ ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน จะมีดอกสักสีเหลืองอร่ามบานอยู่ทั่วบริเวณ


จุดชมวิวเหมืองแร่แบไรต์เก่า อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ ๙ กิโลเมตร เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ ชมความงามของป่าดงสักงามทางทิศตะวันตก และสามารถชมได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและตก ในฤดูหนาวจะมองเห็นทะเลหมอกจากบริเวณนี้ได้ด้วย ที่บริเวณจุดชมวิวนี้เคยเป็นเหมืองแร่แบไรต์เก่า อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๕๐๐ เมตร


หล่มด้ง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ปุง-แม่เป้า ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๒๐ เมตร อยู่บนยอดเขาสูง มีน้ำตลอดปี เป็นแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่าในบริเวณนั้น มีลักษณะที่แปลก คือ ไม่มีต้นกำเนิดของแหล่งน้ำ และน้ำในบึงก็ไม่เคยเพิ่ม หรือลดลง สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากการสะสมของน้ำฝน หรือน้ำซับ และบริเวณใกล้เคียงกันมีดงต้นตะแบก มีลานสำหรับกางเต็นท์ มีจุดชมทิวทัศน์ป่าสักที่งดงาม และชมพระอาทิตย์ขึ้น-ตก

แม่สอด



อยู่ห่างจากอำเภอเมืองตาก ๘๖ กิโลเมตร ได้รับการจัดตั้งเป็นอำเภอมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๑ เดิมชื่อพระหน่อเก่ ตัวอำเภออยู่ในที่ราบระหว่างภูเขา ส่วนหนึ่งเป็นเทือกเขาในฝั่งประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งเป็นเทือกเขาฝั่งสหภาพพม่า อำเภอแม่สอดมีพื้นที่ประมาณ ๒,๖๐๐ ตารางกิโลเมตร ประชากรมีทั้งชาวเขา และคนที่อพยพจากอำเภอเมืองเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ รวมทั้งชาวพม่าที่มีภรรยา และบุตรเป็นคนไทยด้วย
ประวัติความเป็นมาของอำเภอแม่สอดนั้นยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจะเป็นเมืองฉอดของขุนสามชนที่เคยยกทัพไปตีกรุงสุโขทัยหรือไม่ ยังไม่มีผู้ใดพิสูจน์ได้ เมื่อดูตามสภาพบ้านเมืองของอำเภอแม่สอดนั้น ไม่พบว่ามีสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่มีอายุอยู่ในยุคของสุโขทัยได้เลย ฉะนั้นจึงน่าเชื่อได้ว่าไม่ใช่เมืองเดียวกัน ขณะนี้ได้มีนักโบราณคดีพบซากเมืองโบราณอยู่ในป่าทึบ ในท้องที่อำเภอแม่ระมาด อาจจะเป็นเมืองฉอดตามศิลาจารึกกรุงสุโขทัยก็ได้

วัดมณีไพรสณฑ์ ตั้งอยู่ในตลาดแม่สอด ภายในวัดมีเจดีย์วิหารสัมพุทเธ มีลักษณะแปลกคือ บนองค์เจดีย์มีเจดีย์ เล็ก ๆ ล้อมรอบถึง ๒๓๓ องค์ และพระพุทธรูปบรรจุอยู่ถึง ๕๑๒,๐๒๘ องค์ มีโบสถ์เก่าแก่อายุกว่า ๒๐๐ ปี ที่บริเวณหน้าบัน และหลังคาโบสถ์มีลายไม้ฉลุสวยงาม บริเวณโดยรอบวัดมีซุ้ม และศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ได้แก่ หลวงพ่อสังกัจจาย พระพุทธรูปปูนปั้นปางพุทธไสยาสน์ เป็นต้น

วัดชุมพลคีรี ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลแม่สอด เป็นวัดเก่าแก่มีอายุกว่า ๒๐๐ ปี มีเจดีย์สร้างใหม่จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองของสหภาพพม่า ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย ส่วนในวิหารเป็นที่เก็บกลองโบราณมีอายุกว่า ๒๐๐ ปี

น้ำตกแม่กาษา อยู่ที่ตำบลแม่กาษา เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มีทางเดินขึ้นไปบนเขาสูง มีถ้ำ และธารน้ำกว้างประมาณ ๕ เมตร เป็นทางจากปากถ้ำถึงน้ำตก การเดินทาง จากเส้นทางสายแม่สอด-แม่ระมาด (ทางหลวงหมายเลข ๑๐๕) ประมาณกิโลเมตรที่ ๑๓-๑๔ มีป้ายทางเข้าเขียนว่า บ้านแม่กื๊ดสามท่า จากปากทางเข้าไปประมาณ ๔ กิโลเมตร และมีทางแยกเข้าไปอีกประมาณ ๑.๕ กิโลเมตรบ่อน้ำร้อนแม่กาษา อยู่ที่ตำบลแม่กาษา บ่อน้ำร้อนนี้อยู่ในตัวหมู่บ้าน มีความกว้างประมาณ ๒ เมตร นอกจากนี้ยังมีธารน้ำร้อนเป็นสายมาพบกับธารน้ำเย็น เมื่อผ่านเข้าไปในบริเวณหมู่บ้านจะได้กลิ่นกำมะถันกรุ่นอยู่ทั่วไป และมีไอน้ำจาง ๆ ลอยขึ้นเหนือพื้นดินเล็กน้อย เมื่อเข้าไปดูที่ปากบ่อจะเห็นฟอง และการเดือดของน้ำได้ชัดเจน อุณหภูมิของน้ำสูงพอสมควร บริเวณหมู่บ้านมีธรรมชาติที่สวยงามล้อมรอบด้วยภูเขาสูง และไร่นา การเดินทาง จากเส้นทางสายแม่สอด-แม่ระมาด ตรงกิโลเมตรที่ ๑๓-๑๔ ใช้เส้นทางเดียวกับน้ำตกแม่กาษา เข้าไปประมาณ ๗ กิโลเมตร ผ่านเข้าไปในหมู่บ้านถึงบ่อน้ำร้อนแม่กาษา

ดอยเวียงผา


อาณาเขต ติดต่อกับ ทิศเหนือ จด แนวถนนทางหลวงหมายเลข 109 (ฝาง - แม่สรวย) ตำบลแม่คะ อำเภอแม่ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ทิศใต้ จด แนวเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ทิศตะวันออก จด แนวเขตหมู่บ้าน ตำบล ท่าก๊อ ตำบล ศรีถ้อย ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ทิศตะวันตก จด แนวเขตหมู่บ้าน ตำบล ศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่

การเดินทาง : ระยะทางจากจังหวัด เชียงใหม่ ถึงอำเภอไชยปราการ ประมาณ 128 กิโลเมตร และ ระยะทางจากอำเภอไชยปราการ ถึงสำนักงานอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา 12 กิโลเมตร สภาพถนนเป็นถนนลาดยาง ประมาณ 128 กิโลเมตร และถนนลูกรัง 12 กิโลเมตร

สถานที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก : อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีเจ้าหน้าที่ประจำในการติดต่อสอบถาม ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีเส้นทางเดินไพรศึกษาธรรมชาติ โดยเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก และมีสถานที่กางเต้นท์ไว้รองรับนักท่องเที่ยวท่านที่ต้องการค้างแรมใกล้ชิดกับธรรมชาติอีกด้วย สนใจติดต่อได้ที่ศูนย์อุทยานแห่งชาติภาดเหนือ สำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50100 โทร. (053)818348 โทรสาร. (053) 818348 หรือติดต่อสอบถามได้ที่งานบริการบ้านพักฝ่ายนันทนาการและสื่อความหมาย ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร. 02-5797223 , 02-5614292-4 ต่อ 724 , 725

ลักษณะภูมิประเทศ : ภูมิประเทศ มีลักษณะเป็นภูเขาสลับซับซ้อน วางตัวในแนวเหนือใต้ เป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำฝาง มียอดดอยเวียงผาสูงสุดในพื้นที่ มีความสูง 1,834 เมตรจากระดับน้ำทะเล ต่ำสุด 400 เมตร และสูงสุด 1,834 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดสูงมากกว่า 35% มีแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ได้แก่ น้ำแม่ฝาง ห้วยทราย น้ำแม่ฝางหลวง น้ำห้วยไคร้ น้ำแม่ยางมิ้น และน้ำแม่ต๋ำ

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า : อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา มีนกอยู่กว่า 20 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ที่เป็นลักษณะเด่นของอุทยาน คือ เวียงผา หมี เก้ง ส่วนสัตว์ที่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ไก่ป่า และหมูป่า

อุ้มผาง


อำเภออุ้มผาง อยู่ห่างจากจังหวัดตาก ๒๔๙ กิโลเมตร มีพื้นที่ ๒,๗๐๓,๓๖๒ ไร่ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในแปดอำเภอที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีชายแดนติดต่อกับสหภาพพม่า และเคยเป็นที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยงมาก่อน ต่อมาจึงมีคนไทยภาคเหนืออพยพเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น เดิมอุ้มผางเป็นเมืองหน้าด่านขึ้นอยู่กับจังหวัดอุทัยธานี เป็นจุดตรวจชาวพม่า ซึ่งเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้ประกาศให้ขึ้นกับจังหวัดตาก คำว่า “อุ้มผาง” เพื้ยนมาจากคำภาษากะเหรี่ยงว่า “อุ้มผะ” แปลว่า การแสดงหนังสือเดินทางของผู้เข้าออกไทย-พม่า

สถานที่น่าสนใจภายในเขตฯ ได้แก่ น้ำตกทีลอซู คำว่า ทีลอซู เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า น้ำตกดำ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ห่างจากที่ทำการเขตฯ ๓ กิโลเมตร มีลักษณะเป็นน้ำตกภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเล ๙๐๐ เมตร เกิดจากลำห้วยกล้อท้อ ลำน้ำทั้งสายตกลงสู่หน้าผาสูงชัน มีน้ำไหลแรงตลอดปี ความกว้างของตัวน้ำตกประมาณ ๕๐๐ เมตร ไหลลดหลั่นเป็นชั้น ๆ มีความสูงประมาณ ๓๐๐ เมตร ล้อมรอบด้วยป่าดงดิบที่สมบูรณ์ เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมาก ติดอันดับ ๑ ใน ๖ ของโลก ซึ่งการเดินทางไปชมน้ำตกแต่ละชั้นบางครั้งจะต้องเดินผ่านสายน้ำตก ควรใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ

น้ำตกทีลอจ่อ หรือ น้ำตกสายฝน ห่างจากอำเภออุ้มผาง ๓ กิโลเมตร ตามเส้นทางสายอุ้มผาง-บ้านปะละทะ ถึงแยกขวามือมีทางเข้าไปประมาณ ๑ กิโลเมตร ก็จะพบน้ำตก ชั้นแรก มีความสูงประมาณ ๘๐ เมตร อยู่บนหน้าผาสูงชัน ชั้นที่ ๒ ไหลจากหน้าผาสูงชันตกลงสู่แม่น้ำแม่กลอง สายน้ำแตกกระจายเป็นฝอยดูเหมือนสายฝน ทำให้บริเวณโดยรอบได้รับความชุ่มชื้นมีพืชประเภทมอส และตะไคร่น้ำขึ้นปกคลุมเขียวชอุ่มตลอดทั้งปี น้ำตกทีลอจ่อนี้สามารถล่องเรือยางจากตัวอำเภอ อุ้มผางไปตามลำน้ำแม่กลองถึงน้ำตกได้ ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ ๓๐ นาที

น้ำตกเซปละ อยู่ในเขตบ้านเซปละ ตำบลแม่ละมุ้ง ห่างจากบ้านปะละทะ ๓ กิโลเมตร เป็นน้ำตกภูเขาหินปูนที่ไหลลดหลั่นเป็นชั้น ๆ มีความกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๕๐ เมตร กระแสน้ำที่ตกลงกระทบโขดหินทำให้ดูคล้ายกับก้อนเมฆสีขาวที่มีความสวยงาม น้ำตกทีลอเร มีพื้นที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เป็นน้ำตกที่อยู่บนโตรกผา มีลักษณะเป็นเพิงผาคล้ายถ้ำ ริมลำน้ำแม่กลอง โดยมีลำน้ำสายใหญ่ไหลผ่านหน้าผาสูงชันตกลงสู่ลำน้ำแม่กลอง มีความสูง ๘๐ เมตร ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม

น้ำตกทีลอเร เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการเดินทางลักษณะการผจญภัย และศึกษาธรรมชาติ ควรใช้เส้นทางสายอุ้มผาง-บ้านปะละทะ เริ่มต้นจากหมู่บ้านกระเหรี่ยงปะละทะด้วยการล่องเรือยางไปตามลำน้ำแม่กลองใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ วัน หมายเหตุ นักท่องเที่ยวต้องเตรียมอุปกรณ์ในการพักค้างแรมระหว่างทาง ๑ คืน และต้องเตรียมอาหารไปเอง

ดอยหัวหมด อยู่ในเขตบ้านอุ้มผาง เป็นภูเขาหินปูนที่ทอดเป็นแนวยาวหลายลูกติดต่อกัน มีความยาว ๓๐ กิโลเมตร กว้าง ๒ กิโลเมตร บนภูเขานี้จะไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้น แต่จะมีต้นหญ้าเตี้ย ๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป เช่น ปรง ดอกเทียน และดอกไม้ป่าที่ขึ้นปกคลุมจะออกดอกบานสะพรั่งในช่วงฤดูฝนรวมทั้งมีโขดหินเป็นระยะ หากมองจากด้านล่างขึ้นไปจะเห็นเหมือนพรม สีเขียวแซมด้วยโขดหิน ต้นไม้ และดอกไม้เป็นแห่ง ๆ หากขึ้นไปบนยอดเขาจะมองเห็นหมู่บ้านอุ้มผาง และทิวเขาสลับซับซ้อนกัน โดยรอบมีทิวทัศน์สวยงาม มีจุดชมวิวเหมาะที่จะดูพระอาทิตย์ขึ้น-ตก และดูทะเลหมอกในยามเช้า (ในช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาวจะมีทะเลหมอกที่สวยงาม)

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

บรรพตพิสัย



เขาหน่อ-เขาแก้ว อยู้ริมทางหลวงสายพหลโยธิน ช่วงนครสวรรค์-กำแพงเพชร ในท้องที่ตำบลบ้านแดน อำเภอบรรพตพิสัย ระยะทางจากตัวจังหวัดประมาณ 45 กิโลเมตร และจากตัวที่ว่าการอำเภอบรรพตพิสัยประมาณ 18 กิโลเมตร เขาหน่อเป็นเขาหินปูนที่มีวัดเขาหล่ออยู่เชิงเขา มีบันไดขึ้นสู่ถ้ำบนยอดเขาและมีพระพุทธรูปนอนองค์ใหญ่อยู่ปากถ้ำ เมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จภาคเหนือทางชลมารคสายแม่น้ำปิง เคยทรงประทับพักแรม ต่อมาจังหวัดได้สร้างพระบรมรูปไว้เป็นอนุสรณ์ บริเวณเชิงเขามีฝูงลิงจำนวนมาก คอยรับอาหารจากนักท่องเที่ยวที่มาเยือน นอกจากนี้เวลาเย็นจะมองเห็นฝูงค้างคาวที่อาศัยอยู่ตามถ้ำน้อยใหญ่ในภูเขาบินออกไปหากิน ดูเป็นสายยาวสีดำอยู่บนท้องฟ้า
ส่วนเขาแก้ว อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน มีถ้ำหลายถ้ำซึ่งเป็นที่อยู่ของค้างคาวมากมาย ในเวลาเย็นใกล้พลบค่ำฝูงค้างคาวจะพากันบินออกหากิน

วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552

ประวัติส่วนตัว

ชื่อ น.ส.อารีรัตน์ สุวรรณ
เกิดวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2533
อายุ 19 ปี
ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะครุศาสตร์ โปรแกรมวิชา คณิตศาสตร์